วันอาทิตย์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ข้าวกล้องงอกสันป่าตอง

  


 

ได้รับข้าวกล้องงอกสันป่าตองมาจำนวนหนึ่ง คนให้กำกับมาด้วยว่าอร่อยมาก ให้ลองชิมดู เวลาหุงให้ใช้ข้าวหนึ่งส่วนต่อน้ำหนึ่งส่วน เลยไปค้นดูว่าข้าวสันกำแพงคืออะไร ตามนิสัยอยากรู้อยากเห็น ข้าวสันป่าตองเป็นข้าวเหนียวพันธุ์หนึ่ง ปลูกกันในเขตอำเภอสันป่าตอง แต่เมื่อทำเป็นข้าวกล้องงอกแล้ว จะนึ่งแบบข้าวเหนียวไม่ได้ แม้ว่าข้าวจะสุก แต่จะปั้นแบบข้าวเหนียวไม่ได้ ต้องหุงอย่างเดียว

เมื่อหุงสุกแล้ว ข้าวนี้จะเหนียวติดกันเป็นก้อน ไม่ร่วนจนคลุกกับน้ำพริกตาแดง หรือปลาป่นไม่ได้เหมือนข้าวเจ้าทั่วไป ทีนี้ก็มาคิดว่า เอ... กับข้าวชนิดไหนจึงจะเหมาะกับข้าวแบบนี้ เลยลองทำดูหลายอย่างด้วยกัน ใช้ได้บ้าง ไม่อร่อยบ้าง

กับข้าวสำหรับข้าวกล้องงอกสันป่าตอง ควรจะเป็นอาหารที่มีน้ำขลุกขลิก ไม่แฉะมาก และไม่ต้องคลุก ได้ลองทำดูหลายอย่าง ที่เข้ากันดี ก็น่าจะเป็นส้มตำ ทานกับไข่ต้มยางมะตูม หรือแคบหมู และพอดีได้ทำ มาซาลาไว้ ยังมีน้ำเหลืออยู่ เลยลองหมักหมูสะเต๊ะแบบนุ่มๆ นำมาปิ้ง ทานกับสลัดหอมดองคล้ายเป็นอาจาด ก็อร่อยเหมือนกัน



วันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

ข้าวต้มสามกษัตริย์

             


             ได้มีโอกาสอ่าน ตำราอาหารที่สั้น(กุด)มาก จากหนังสือตามเสด็จประพาสต้น ของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ – ซึ่งทรงใช้นามปากกาว่า “นายทรงอานุภาพ” เขียนเป็นจดหมายถึงเพื่อนคนหนึ่ง เครื่องปรุงและวิธีทำทั้งหมดมีแค่นี้เอง

“วันที่๒๔ กรกฎาคม รศ.๑๒๓ เวลาเช้า เสด็จลงเรือฉลอมแล่นใบออกไปประพาสละมุที่เขาจับปลาตามปากอ่าวแม่กลอง มีเรือฉลอมแล่นไปในกระบวนเสด็จ ๓ ลำด้วยกัน เที่ยวซื้อกุ้งปลาที่เขาจับได้ตามละมุแล้วต้มข้าวต้มสามกษัตริย์ขึ้นในเรือฉลอม ที่เรียกว่าข้าวต้มสามกษัตริย์นั้น คือต้มอย่างข้าวต้มหมู แต่ใช้ปลาทู กุ้ง กับปลาหมึกสดแทรกแทนหมู เป็นของทรงประดิษฐ์ขึ้นในเช้าวันนั้นเอง”

อ่านแล้วอยากทดลองทำดูบ้าง แล้วจะสำเร็จไหมเนี่ย....

สมองเริ่มคิดว่าข้าวต้มหมูแบบโบราณทำยังไงก่อนเลย มันควรต้องมีเครื่องปรุงที่ทำให้กลิ่นหอม คือรากผักชี พริกไทยและข่าป่น โขลกรวมกัน ส่วนน้ำซุปที่จะทำให้รสหวาน ก็ควรเป็นซุปจากอาหารทะเลนั้นเอง เลยต้มปลาทูสดก่อน พอปลาทูสุก ก็เอาขึ้นแกะเนื้อออก พักไว้ แกะเปลือกกุ้งเคี่ยวรวมกับก้างปลาทูอีกครั้งหนึ่งให้น้ำซุปหวานขึ้นอีกหน่อย กรองก้างออก ให้เหลือเฉพาะน้ำซุป

ถึงตอนทำ ก็ผัดปลาหมึกกับกุ้งรวมกับรากผักชี พริกไทย ข่าที่โขลกไว้ ปรุงรสด้วยน้ำปลากับซีอิ๊ว และใส่น้ำซุปตามด้วยข้าวสวยลงเคี่ยวให้น้ำซุปซึมเข้าเม็ดข้าว ปรุงรสด้วยตั้งฉ่าย เมื่อเม็ดข้าวสุกได้ที่แล้วตักขึ้นใส่ชามเสิร์ฟ นำชิ้นปลาทูที่แกะไว้วางข้างบน โรยกระเทียมเจียว ต้นหอมผักชี และพริกไทย

           ไม่รู้เหมือนต้นฉบับหรือเปล่า แต่ก็เวิร์คอยู่นะ

วันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

หมูแดง เดอะซีรี่ส์


เรื่องนี้เริ่มต้นจากคิดอยากจะทำซาละเปาไส้หมูแดง เลยไปซื้อผงสำหรับทำหมูแดงมา แล้วก็พบว่ากลิ่นผงพะโล้แรงมาก ไม่หอมเหมือนหมูแดงเลย ดูส่วนผสมที่ข้างซองก็พบว่าเขาใช้สีแดงส้มเพื่อทำให้เป็นสีแดง ก็เลยไปเปิดหาวิธีทำในอินเทอร์เน็ต ทุกรายทำคล้ายกันหมด คือผสมผงพะโล้และสีแดง 
เลยนึกถึงสูตรหมูแดงของแท้ที่เพื่อนชาวฮ่องกงเคยสอนให้ทำ แล้วไปดูว่าเมืองไทยมีเครื่องปรุงขายครบไหม อ่ะ...บนร้านออนไลน์มีทุกอย่าง จัดไปค่ะ... 
ถ้าจะทำไส้ซาละเปา ก็หั่นหมูเป็นชิ้นเล็ก ๆ ให้มีส่วนติดมันบ้าง ส่วนเนื้อบ้าง ถ้าจะทำหมูแดง ก็หั่นหมูเป็นเส้นยาว ๆ 
ส่วนผสมสำหรับหมัก ได้แก่ อังคัก (ผลของพืชชนิดหนึ่ง บดเป็นผง ทำให้หมูเป็นสีแดงและหอม), พริกไทย, ผงพะโล้นิดหน่อย, ชวงเจียว (บางคนเรียกพริกหอม), น้ำผึ้ง, ซีอิ๊วขาว, น้ำมันหอย, ฮอยซินซอส และเหล้าจีน หมักหมูแล้วแช่ตู้เย็นไว้สัก 2-3 ชั่วโมง 
ถ้าจะทำไส้ซาละเปาก็เอาออกมาผัดโดยสับกระเทียมลงเจียวน้ำมันก่อน แล้วจึงเอาหมูลง เมื่อผัดใกล้จะสุก ให้เติมน้ำผสมแป้งข้าวโพด เพื่อทำให้ไส้หนืดขึ้น จะปั้นง่าย 
ถ้าจะทำหมูแดงก็เอาออกมาย่างด้วยเตาถ่าน ใช้ไฟอ่อน ๆ จะหอมแบบกลิ่นหมูแดงของแท้









วันศุกร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ที่บ้านสวน

 

ในสวน

คุณป้ามีที่ดินเปล่าอยู่ในซอยบนถนนแจ้งวัฒนะแปลงหนึ่ง ต้องเข้าซอยไปลึก แต่เมื่อไปถึงแล้วกลายเป็นพื้นที่เงียบสงบมาก ราวกับอยู่ต่างจังหวัด คุณป้าใช้ที่แปลงนี้ปลูกผักสวนครัวหลายอย่าง ตั้งใจว่าจะเอาไว้ทานเองบ้าง แจกบ้าง ขายบ้าง ตามแต่โอกาส การันตีว่าเป็นผักอินทรีย์ทุกต้น

แล้วคุณป้าก็เลยสร้างอาคารชั้นเดียวในที่ดินแปลงนี้ เป็นห้องโล่ง ๆ มีระเบียงกว้าง ๆ ตั้งโต๊ะอาหารได้ มีทั้งครัวฝรั่ง ครัวไทย ไว้ทำอาหารกัน เผื่อใครอยากมาใช้สถานที่ พักผ่อน ก็ไม่ต้องเดินทางไปไกลถึงต่างจังหวัด นั่งอยู่บนบ้านลมเย็นพัดโชยมาตลอดเวลา จะคุยกันเสียงดังแค่ไหนก็ได้ เพราะรับแขกได้ทีละกลุ่มเดียว

คุณป้าให้หลานทดลองทำอาหารแบบพ่อครัวใหญ่คิดเมนูเอง ชวนหน่วยกล้าตายไปลองชิม สนุกมาก

หน่วยกล้าตายได้รับ welcome drink เป็นค็อกเทลที่ใช้ base เหล้ารัมขาว ใส่น้ำสับปะรดเปรี้ยว ๆ ลอยหน้าด้วยสับปะรดอบแห้งที่ทำให้ดูเหมือนดอกไม้ ตามมาด้วย อาหารคาว-หวานแบบตามใจเชฟ มีผักที่ปลูกเองในสวนเป็นส่วนประกอบด้วย

ที่เก๋กู้ด คือไอเดียคุณป้าในการปลูกผักอินทรีย์ และให้เช่าสถานที่มาสังสรรกันนี่เอง ใครจะมาจัดสังสรร โดยนำอาหารมาคนละอย่างก็ได้ ใครจะมาย่างบาร์บีคิวก็ได้ ใครจะมาทานอาหารโดยมีพ่อครัวปรุงให้ แล้วนั่งคุยกันเพลินๆ ก็ได้ หรือใครจะซื้อผักกลับบ้านด้วยก็ได้

การได้พักผ่อนในบรรยากาศเงียบสบาย อากาศดี สักชั่วโมงสองชั่วโมง ก็ทำให้โลกละไมขึ้นได้ไม่น้อยทีเดียว

ห้องครัวน่าสบาย



นั่งเล่น-ชมสวน

วันเสาร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2563

ข้าวต้มแห้งโกวิด




ช่วงเวลาที่ไวรัสโควิด-19 กำลังระบาด คุณเพื่อนผู้แสนดีคนหนึ่งก็ส่งข้อความมาทางไลน์ แนะนำว่า การสร้างภูมิคุ้มกันไวรัสนี้ ให้ใช้วิธีของคนโบราณ คือต้มขิง ข่า ตะไคร้ หอมแดง กระเทียม ดื่มทุกวัน จะทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายแข็งแรง ฮ้า... จริงดิ... ที่บอกมานั้นส่วนใหญ่มันคือเครื่องต้มยำชัด ๆ การนำเครื่องต้มยำมาทำเครื่องดื่มย่อมเสียเหลี่ยมลูกคนไทยยิ่งนัก
แต่เราจะทำยังไงให้ร่างกายเพิ่มภูมิคุ้มกันได้นี่สิ ถ้าจะใส่เครื่องให้ครบทุกอย่าง ต้มยำก็อาจจะรสแปลกไปนิดหน่อย เพราะปกติเขาไม่ใส่กระเทียมกับขิงกัน เลยลองปรับสูตรดู
นึกถึงข้าวต้มแห้งที่ร้านหนึ่งในภูเก็ต ใส่กระเทียมเจียวเยอะมาก แต่เขาใส่เนื้อสัตว์ลงไปในชามเลย ให้น้ำซุปเปล่าๆ มาซด ส่วนอีกร้านหนึ่งที่กรุงเทพ ไม่ใส่กระเทียมเจียว เป็นข้าวต้มเปล่าๆ คลุกน้ำมันนิดหน่อย โรยหน้าด้วยขิงซอยกับข่าซอยคั่วให้แห้งและต้นหอมซอยนิดหน่อย หอมมาก ร้านนี้เขาให้เนื้อสัตว์มาในน้ำซุปด้วย ปรุงได้ตามชอบ
เลยเอาสูตรของสองร้านมารวมกัน ทำน้ำสต๊อกจากซี่โครงอ่อนให้หวานน้ำต้มกระดูก เคี่ยวข้าวกับน้ำซุปที่ยังไม่ได้ปรุงจนแห้งงวดแล้วคลุกน้ำมันเจียวกระเทียมนิดหน่อย ตักใส่ชาม โรยหน้าด้วยขิงซอยกับข่าซอยคั่ว ตามด้วยต้นหอมซอยกับกระเทียมเจียว เสร็จแล้วปรุงซี่โครงอ่อนที่เคี่ยวไว้แบบต้มแซ่บ ใส่ข่า ตะไคร้ หอมแดง ใบมะกรูด ปรุงรสด้วยมะนาวเพิ่มวิตามินซี แถมมะเขือเทศไปอีกหน่อย เพิ่ม anti-oxidant ฮ่า.. ฮ่า.. ฮ่า.. คราวนี้โควิดมาต้องคิดหนักละว่าจะเจาะภูมิคุ้มกันเข้ามายังไง
คิดสูตรได้ในยุคโควิดระบาดพอดี เลยตั้งชื่อให้เข้าสมัยซะเลยว่า “ข้าวต้มแห้งโกวิด”

วันจันทร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2562

บะหมี่น่องเป็ดอบหม้อดิน



น่องเป็ดพะโล้นี้ นอกจากจะรับประทานแบบพะโล้ หรือใช้ทำข้าวต้มเป็ดแล้ว ก็ยังนำมาปรุงอาหารได้อีกหลายอย่างเหมือนกัน ง่าย ๆ ก็นำมาอบหม้อดินกับบะหมี่ รสก็เข้ากันดี ภัตตาคารหลายแห่งใช้ขาห่าน แต่ของเราทำที่บ้าน น่องเป็ดพะโล้ก็จะหาง่ายกว่าหน่อย
วิธีการก็ไม่ยาก... เริ่มต้นรองก้นหม้อดินด้วยมันหมูแข็ง สับหอมแดงสักหัวกับกระเทียมสักสามกลีบ ปนกันใส่ลงไป ตามด้วยรากผักชีสับสักสองราก ลูกผักชี ยี่หร่าและพริกไทยเม็ด อย่างละช้อนชา แล้วก็วางน่องเป็ดทับลงไป เติมซีอิ๊วขาว ซีอิ๊วดำ และน้ำมันหอย แล้วปิดฝา อบบนเตาประมาณ 5-7 นาที เปิดฝาออกมาเครื่องน่าจะสุกจนหอมแล้ว เติมน้ำซุปลงไปให้ท่วมเป็ด แล้วปิดฝาเคี่ยวต่อไปอีกสัก 20นาที เพื่อให้เนื้อเป็ดเปื่อยยุ่ย ระหว่างนั้นก็ลวกบะหมี่ ให้เส้นสวยไว้หน่อย อย่าให้เส้นนิ่มมาก พอเป็ดเปื่อยดีแล้ว เปิดฝา เทน้ำซุปลงบนเส้นบะหมี่ที่ลวกไว้แล้ว เวลาเทน้ำซุป ให้เทผ่านกระชอน เพื่อกรองเครื่องเทศที่เราใส่ไว้ เสร็จแล้วเทเครื่องเทศกลับไปอยู่ก้นหม้อตามเดิม คลุกน้ำซุปกับเส้นบะหมี่จนเข้ากันดี แล้วโปะบะหมี่ลงบนน่องเป็ด เทน้ำซุปผ่านเส้นบะหมี่ลงในหม้อ ปิดฝา อบต่อไปอีก ราว 5 นาที เท่านี้ เราก็จะได้บะหมี่อบน่องเป็ดหม้อดินแสนอร่อย เสิร์ฟกับ น้ำส้มพริกตำผสมน้ำกระเทียมดองนิดหน่อย เข้ากันดีค่ะ

วันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

เยลลี่ดอกไม้



คนที่รักการฝีมือ ก็จะเป็นคนที่ละเอียด ปราณีตกับงานที่ตนเองทำ เวลาทำงานก็จะมีสมาธิจดจ่ออยู่กับงานฝีมือ หรืองานศิลปะที่ตัวเองกำลังทำอยู่ และก็มักจะทำงานศิลปะได้หลายอย่าง เช่นเคยทำงานด้านเสื้อผ้า ก็อาจมาทำดอกไม้ประดิษฐ์ หรือทำอาหารพิเศษบางอย่างก็ได้
มีคนหนึ่งเป็นแบบนี้เลย สามารถทำเยลลี่ที่ใช้เข็มฉีดยาฉีดเยลลี่ที่มีสีให้เป็นรูปดอกไม้ได้ ที่จริงงานแบบนี้ก็เคยได้เห็นตามวิดีโอในโซเชียลมีเดียมาบ้าง แต่ของคนนี้อลังการระดับมาเป็นช่อเลยก็มี เหมือนวาดภาพช่อดอกไม้สามมิติลงบนเยลลี่ สมัยเริ่มหัดทำใหม่ ๆ เธอก็ทำเยลลี่ปกติ ออกรสเปรี้ยวนิดหน่อยตามแบบเยลลี่ทั่วไป
          แต่เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว ได้รับเยลลี่รูปดอกกุหลาบมา คราวนี้ฝีมือพัฒนาไปมาก หอมกลิ่นดอกกุหลาบด้วย รสเปรี้ยว ๆ อร่อยมาก ทานกับไอสครีมรสนม เข้ากันดีทีเดียว...