วันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2553

A Cup of Love – อุแม่เจ้า...

ไปวังน้ำเขียวมาอ่ะ ประมาณว่าเป็นทริปชิลๆ เฮฮากับเพื่อน เค้าบอกว่าจะพาไปถ่ายรูปที่ร้านกาแฟสวยๆ เราก็ไม่ขัด ไปกันตั้งหลายคน มันก็ควรจะมีรูปถ่ายติดไม้ติดมือกันมาบ้าง แต่พอไปถึงเข้าจริง... โอ้ว... รัยเนี่ย...
ร้านนี้ชื่อ A Cup of Love ด้านหน้าเป็นร้านกาแฟ แต่ด้านหลังรู้สึกเป็นรีสอร์ต ให้คนมาพัก บรรยากาศก็คงดีเหมือนกัน ที่นี่เขาเน้น ทำอาคารให้สวย เพื่อถ่ายรูปได้ทุกมุม แต่จะมีบางมุมที่เขาตกแต่งเป็นพิเศษ ให้คนมายืนโพสต์ได้
ลูกค้าส่วนใหญ่ของร้านนี้เป็นวัยรุ่น หรือไม่ก็นิสิตนักศึกษา มากันเป็นกลุ่ม ทุกกลุ่มมีกล้องถ่ายรูปมาด้วย กติกาของร้านคือบริการตนเอง เวลาสั่งกาแฟเขาจะถามชื่อเอาไว้ แล้วถ้าไม่ยืนอยู่แถวๆนั้นเพื่อรอรับ ก็ไปถ่ายรูปกันก่อนได้
การถ่ายรูป เป็นมหกรรมที่น่าตื่นเต้นมากก๊าบ-บ-บ... เพ่-น้อง มันจะต้องมีทั้งรูปเดี่ยว และรูปหมู่ แล้วก็มีคนนี้กับคนนั้น มีรูปหมู่สามคน รูปหมู่สี่คน รูปหมู่ทั้งหมู่ แล้วมันก็ยังมีหลายมุม ซึ่งจะต้องถ่ายให้ครบ แล้วเจ้าของกล้องก็จะต้องขอให้เพื่อนถ่ายให้บ้าง กว่าจะครบแต่ละมุม ก็ต้องมีสิบรูปเป็นอย่างน้อย แล้วร้านนี้ก็มีมุมให้ถ่ายเยอะซะด้วย บางคนก็ถ่ายปุ๊บ อัพเฟซบุ๊คปั๊บ ให้มันรู้ซะมั่ง... บางคนก็ถ่ายรูปเพลินจนเครื่องดื่มที่สั่งไว้...ได้แล้วก็ไม่สนใจ มิน่าล่ะ ตอนสั่งเครื่องดื่มเขาถึงได้ถามชื่อด้วย เอาไว้สำหรับประกาศเรียกมารับนั่นเอง
นอกจากเครื่องดื่มแล้ว ทางร้านเขามีมุมขายของที่ระลึกเล็กน้อย ประเภทถูกใจวัยรุ่นด้วย คนแน่นเหมือนเขาแจกฟรี และก็ไม่มีใครสนใจใคร ใครจะโพสต์ท่าประหลาดยังไงก็ไม่มีใครมอง ทุกคนมาถ่าย ถ่าย และถ่าย ตั้งหน้าตั้งตาถ่ายกันอย่างเอาจริงเอาจัง และแล้ว...ถ้าเกิดอยากจะถ่ายจริงๆ มุมหน้าห้องน้ำก็สวยพอให้โพสต์ท่าได้อ่า-า-า... ถ้าไม่ปวดจัด

วันอังคารที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ภาพเขียนฝาผนัง-วัดเกษไชโย

     ปกติคนไปวัดเกษไชโยเขาไปไหว้พระพุทธรูปองค์ใหญ่ในวิหารหลวงกัน และก็มาไหว้สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ผู้สร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ในวัดเก่าแก่แห่งนี้ ตอนไหว้สงสัยขอโชคขอลาภกันเยอะมั้ง เห็นไหว้เสร็จแล้วก็เสี่ยงเซียมซีมั่ง ซื้อลอตเตอรี่มั่ง บางคนก็ไปเดินดูตะกร้าสานของอ่างทอง เดี๋ยวนี้เค้าไม่ใช้เส้นหวาย หรือไม้ไผ่แล้วนะท่านผู้ชม เค้าใช้เส้นพลาสติคสานเป็นสีสวยๆแทนค่ะ
แต่พวกเราอยากไปดูภาพเขียนฝาผนัง เลยเข้าไปเดินในโบสถ์กันอยู่นาน สันนิษฐานกันว่าภาพเขียนชุดนี้เขียนขึ้นสมัยรัชกาลที่ห้า ในครั้งที่ท่านได้โปรดให้บูรณะวัดนี้ เพราะแม้จะเป็นภาพเขียนสองมิติแบบไทย แต่ เรื่องราวที่ปรากฎอยู่ในภาพนั้นไม่น่าจะโบราณมากนัก น่าจะเป็นสมัยรัชกาลที่ห้านั้นเอง เช่นมีรูปตึกแบบฝรั่ง แต่หลังคาเป็นยอดปราสาท คล้ายพระที่นั่งจักรีเป็นต้น ภาพเขียนชุดนี้ยังคงสมบูรณ์พอที่จะบอกเล่าความเป็นไป ของสังคมสมัยนั้นได้ดี ถ้าจะสังเกตให้ดีแล้วเรื่องราวที่ภาพบอกมานั้น อาจจะเป็นเรื่องที่ไม่แตกต่างกับสังคมสมัยนี้มากนัก  ดูอย่างภาพแสดงประตู และทางเดินที่คนผ่านเข้าออกมากๆนี่ไง ม้า-า-น-นก้อมีคนมาตั้งแผงลอยขายของมั่ง ไรมั่งตั้งแต่สมัยโน้นแหละ ขวางทางคนเดินเหมือนแผงลอยสมัยนี้ซะด้วย แล้วอีกภาพนึงอ่ะ ... อ้าว... พี่ตำรวจ ... หลับยามกันมาตั้งแต่สมัยโน้นเลยเหรอคร้า-า-า 

วันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ขนมสอดไส้ใบตองสด

ใบตองยังสดอยู่เลย
ประสาเด็กชอบเที่ยว วันก่อนนั้นพวกเราไปถ่ายรูปแถวลพบุรีกัน แล้วเพื่อนก็เลยลากไปบ้านคุณป้าที่สิงห์บุรี นอนเล่นกันอยู่จนบ่าย บังเอิ๊น-บังเอิญ วันนั้นคุณป้าทำขนมสอดไส้พอดี เราเลยได้ชิมกัน แต่มันไม่ยักเหมือนสอดไส้ที่ขายกันในกรุงเทพแฮะ ในกรุงเทพ แม่ค้าเขาเอาขนมไปนึ่งให้สุก พอแกะห่อออกมา แป้งมันก็จะเปื้อนสีใบตองเขียวๆ ก่อนทานจะได้กลิ่นใบตองนึ่งนิดหน่อย
          แต่ขนมที่บ้านคุณป้ามันเป็นใบตองสด เด็กอยากรู้เลยไปถามคุณป้าว่า คุณป้าคะ ทำยังไงขนมจึงสุกได้โดยที่ใบตองยังสดอยู่ คุณป้าหัวเราะ เออ...ลูกช่างสังเกตดี แล้วเลยเล่าให้ฟังว่า สอดไส้แบบนี้เป็นตำราโบราณ ไส้เขาก็ทำเหมือนกันนั่นแหละ คือกวนมะพร้าวขูดกับน้ำตาลปึกผสมเกลือลงไปนิดหน่อย ให้รสหวานกำลังดี แห้งแล้วก็อบไส้ด้วยควันเทียนอบไว้สักวันหนึ่ง วันรุ่งขึ้นก็ทำแป้งหุ้มไส้ โดยนวดแป้งข้าวเหนียวผสมน้ำดอกอัญชันให้เข้ากันดี แล้วนำมาปั้นเป็นก้อนกลมหุ้มไส้มะพร้าวกวน นึ่งให้สุก วางบนใบตองที่จะใช้ห่อ เสร็จแล้วจึงกวนส่วนผสมของตัวแป้งให้ข้น และสุกกำลังดี ตักตัวขนมโปะลงบนไส้ แล้วห่อเลย ความยากของการทำงานวิธีนี้อยู่ที่การรู้จังหวะ ว่าแป้งได้ที่หรือยัง แป้งต้องข้นพอดี ถ้าเหลวไป หรือข้นไป ก็จะห่อไม่ได้ มันยุ่งยากมากขนาดนี้ คนสมัยใหม่เขาก็เลยใช้วิธีนึ่งเอาเสียเลย จะได้แน่ใจว่าขนมสุกแน่ ใครไม่เคยทานขนมสอดไส้ใบตองสดมาก่อน ก็จะไม่ทราบหรอกว่า เวลาเปิดห่อมาแล้วได้กลิ่นหอมจางๆของกะทินั้น มันสุนทรีย์ขนาดไหน