วันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2559

วันตรุษไทย


ได้มีโอกาสไปตักบาตรด้วยข้าวเหนียวแดงในวันตรุษไทย แล้วก็อยากทราบว่าทำไมต้องเป็นข้าวเหนียวแดง เลยมาค้นดู แต่ได้เห็นข้อมูลในอินเทอร์เน็ตอยู่บทความหนึ่ง บอกว่า ข้าวเหนียวแดงนั้น เป็น “กิมมิก (gimmick)” ของตรุษไทยและตรุษสงกราต์ ทั้งยังบอกด้วยว่ามีมานานแล้ว “ตั้งแต่สมัยจอมพล ป.” เลยคิดว่าน่าจะบันทึกเรื่องตรุษไทยและข้าวเหนียวแดงไว้หน่อยดีกว่า
พิธีตรุษไทยมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ครั้งรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เดิมมีพิธีหลวงด้วย เรียกว่า พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ เป็นพระราชพิธีสามวัน นิมนต์พระมาสวดอาฏานาฏิยปริตร ในวันแรม 14 และ 15 ค่ำ เดือนสี่และขึ้น 1 ค่ำเดือนห้า วันขึ้นหนึ่งค่ำเดือนห้าคือวันตรุษ หรือขึ้นปีใหม่ ซึ่งในทางโหราศาสตร์จะถือเป็นวันเปลี่ยนปีนักษัตร (ชวด, ฉลู, ขาล ฯลฯ) และถือเป็นวันเปลี่ยนนาคที่ให้น้ำด้วย ส่วนตรุษสงกรานต์นั้นเป็นวันสิ้นปีจุลศักราช วันที่ 16 เมษายน เป็นวันเริ่มปีจุลศักราชใหม่ พิธีตรุษไทยหลวงนี้ยกเลิกไปในปี พ.ศ. 2480
ส่วนพิธีตรุษไทยที่เป็นประเพณีของชาวบ้าน จะมีประเพณีการตักบาตรด้วยข้าวเหนียวแดง และการละเล่น ในปัจจุบัน ยังคงมีการทำบุญตักบาตรอยู่บ้าง แต่การละเล่นนั้นน้อยลง ชาวบ้านจะเปลี่ยนไปเล่นกันในช่วงตรุษสงกรานต์มากกว่า
       ยังหาเหตุผลไม่ได้ชัดนักว่า เหตุใดจึงตักบาตรด้วยข้าวเหนียวแดง แต่คงไม่ใช่ gimmick แน่นอน