วันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ต้มเปอะ


          อาหารไทยชนิดนี้ คงเป็นอาหารโบราณที่ทำกันแพร่หลาย และเรียกกันหลายชื่อ แล้วแต่วัตถุดิบที่ใช้ แต่อย่างไรก็ตาม ชื่อ ต้มเปอะนี้บังเอิญไปพ้องกับชื่อแกงทางภาคอีสานชนิดหนึ่ง เรียกว่า แกงเปอะ เป็นแกงหน่อไม้ ใส่ใบย่านางและข้าวเบือ นิยมใช้หน่อไม้ไผ่รวก ซึ่งทางภาคกลางจะเรียกกันว่า แกงลาว วิธีทำจะคนละอย่างกัน
          ต้มเปอะของไทยภาคกลาง เป็นต้มหน่อไม้หรือหัวตาลอ่อน ใส่ปลาเค็ม หรือปลาร้า บางแห่งก็เรียกต้มปลาร้าหัวตาล บางบ้านก็ใช้เปลือกของจาวตาลอ่อนต้ม ก็มี แต่ถ้าใช้หน่อไม้ ก็จะเป็นหน่อไม้หัวใหญ่ เช่นไผ่ตง หรือไผ่บง ซอยเป็นแผ่นบางๆ
          เริ่มต้นเราก็ตำตะไคร้, ผิวมะกรูด, พริกไท ข่า ให้ละเอียด แล้วผสมเนื้อปลาเค็ม (หรือปลาร้า) ลงตำไปด้วย ซอยตะไคร้ละเอียดอีกพอประมาณ แยกไว้ต่างหาก ตั้งกะทะใส่น้ำมันน้อยๆ เอาเครื่องที่ตำไว้ลงผัดให้หอม แล้วใส่หมูสามชั้นลงผัดไปด้วย พอหมูสุกก็ตักใส่หม้อเคี่ยวไปกับหน่อไม้และตะไคร้ จนหน่อไม้สุกดี จังหวะนี้ ข้างบ้านควรจะได้กลิ่นต้มเปอะของบ้านเราหอมอบอวลแล้ว ปรุงรสด้วยน้ำตาลปึก ชิมให้รสเค็มเท่ากับหวาน หรือเค็มนำหวานตาม แล้วฉีกใบมะกรูดใส่ลงไป เคี่ยวต่อนิดหน่อย ก็ตักขึ้นเสิร์ฟได้

          ต้มเปอะนี้ ถ้าทานกับน้ำพริกกะปิที่ออกรสเปรี้ยวหน่อย แนมกับปลาทูทอด ก็จะดีงามมาก